ประวัติ แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล

แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล

  • ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารพีระยานุเคราะห์มูลนิธิ ( พ.ศ. 2481 – 2527 )
  • ผู้ริเริ่มงานด้านสงเคราะห์เด็กและสตรี และผู้ก่อตั้งสถานสงเคราะห์เด็ก “ บ้านประชาอุทิศ ” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ ” ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2527

Physician cum Doctor of Philosophy Khun Pierra Vejabul

  • Founder and President of the Executive Committee of Pierra Maternity & Child Welfare Foundation ( 1938 – 1984 )
  • Who initiates child and maternity welfare and founds Pracha Uthis Child Home, which is subsequently named as “ Pierra Maternity & Child Welfare Foundation ” under the Royal Patronage of HRH the Princess Mother
  • died on April 20, 1984.

กำเนิด

       แพทย์หญิงคุณหญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล นามสกุลเดิม “ฮุนตระกูล” เกิดที่ ตำบลสบตุ๋ย จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 เป็นบุตรนายตรงกิจ และนางพันธ์ ฮุนตระกูล คหบดีผู้มีความมั่งคั่งสมบูรณ์ที่ตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดนั้น  มีพี่น้องหลายคนแต่ที่เกิดกับนาง พันธ์ มี 2 คน โดยเป็นคนสุดท้อง

การศึกษาขั้นต้น

        เมื่อยังอยู่ในเยาว์วัย มรณกรรมได้มาพรากพี่ของท่านไป ยังความวิปโยคมาสู่ครอบครัว มารดาจึงได้นำท่านไปฝากคุณยายเลี้ยงไว้ พออายุ 7 ขวบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้าศึกษาที่โรงเรียนเสาวภา และผ่านชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เมื่อปี  พ.ศ. 2458  อายุ 17 ปี ( 2458 – 2441) 
จบระดับมัธยม และเป็นครูโรงเรียนอัสสัมชัญ
        จากนั้น แม่หมอได้คำแนะนำจากบาทหลวงของโบสถ์อัสสัมชัญ  เดินทางไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ไซง่อน  เมืองหลวงของเวียดนามใต้  ในขณะนั้นในระยะเวลาหนึ่ง  อายุที่เดินทางไปไซง่อนไม่แน่ชัด (แต่คาดว่าไม่เกินอายุ 22 ปี )
       จากนั้นเดินทางต่อไปฝรั่งเศส  ศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส จนสำเร็จการศึกษาทางด้านแพทย์ สาขา สูตินารีเวช และโรคติดต่อทางเพศสัพันธ์
       เมื่อจบการศึกษาแล้วแม่หมอเดินทางกลับประเทศไทย  ราวปี 2468  ในปีนี้แม่หมออายุ 27 ย่าง 28 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีพลังและต้องการสร้างประโยชน์ให้สังคมไทยเต็มที่ (ตรงกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์สาธารณะสุขไทย)
        แม่หมอต่อสู้ เพื่อบทบาทของสตรีทางด้านการแพทย์ และช่วยเหลือสตรีและเด็กรวมทั้งผู้ป่วยกามโรคทั้งชายและหญิง  จนราวอายุกว่า 30 ปี  ได้เลี้ยงดูเด็กๆ จากสตรีนอกสมรส จำนวนหนึ่ง
       จนราว ปี 2481  แม่หมออายุ ราว 40 ปี  จึงตั้งเป็นสถานสงเคราะห์เด็กและสตรีและจดทะเบียนเป็นชื่อ
 พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ  

       เมื่อจบชั้นมัธยมแล้วท่านได้สมัครเข้าเรียนแพทย์ที่โรงเรียนราชแพทย์ยาลัย ณ ศิริราชพยาบาล แต่ทางการไม่ยินยอมเข้ารับศึกษาเพราะเห็นว่าเป็นสตรี ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ปรากฏว่ามีสตรีเป็นแพทย์

อาชีพครั้งแรก

         แพทย์หญิงคุณหญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล จึงได้ไปสมัครสอบเป็นครูและสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนเซ็นต์โยเซฟคอนแวนต์เป็นเวลาประมาณ 2 ปี

        ในบรรดาศิษย์ที่ท่านเคยสอนรายหนึ่งที่สำคัญ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงมยุรฉัตร และอนุชา คือ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

ศึกษาต่อต่างประเทศ

       แพทย์หญิงคุณหญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล ได้เดินทางไปศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ที่โรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ในไซ่ง่อน เป็นเวลา 1 ปี โดยได้รับความช่วยเหลือจากนางชีคาธอลิก แล้วจึงเดินทางไปยุโรป เพื่อศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนลีเชบูมาเฟมองต์ ในฝรั่งเศส การเดินทางครั้งนั้นอาศัยโดยตามเสด็จพระองค์เจ้าหญิงประภาวสิต พระชายา เสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ชีวิตการศึกษาในต่างประเทศแพทย์หญิงคุณหญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล ได้เรียนด้วยความเพียร ฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย บางครั้งเรียนไปเมื่อทุนหมด ก็ออกทำงานและเรียนต่อเมื่อมีเงินพอเมื่อมีทุนการศึกษา ได้พยายามเข้าชิงทุน ได้รับทุนต่าง ๆ เช่น ทุนของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และท้ายสุดได้ทุน มหิดล เมื่อสำเร็จการศึกษา รวมเวลาทั้งสิ้น 15 ปี

ศึกษาวิชาแพทย์

แพทย์หญิงคุณหญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล ได้เข้าเรียนที่กรุงปารีส แล้วต่อเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงเรียนแพทย์ ได้รับปริญญาทางการแพทย์ จบในปี 2476 ดังนี้

  • M.B. University of Paris, Faculty of Medicine
  • M.D. Faculty of Medicine, University of Paris ได้รับเหรียญเงินเป็นเกียรติ ซึ่งเป็นงานวิทยานิพจน์ที่ได้รับการยกย่องในหมู่นักศึกษาและคณาจารย์ยิ่งนัก ( Contribution a l’ etude de l’ Hormonologie en
    Gynecelogie) Mention : Tres honorable.
  • Diploma of Hygiene, University of Paris.
  • Certificate V.D. Faculty of Medicine, University of Paris
  • Diploma of Sociologic, University of Paris.

เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาวิชาแพทย์นั้น ท่านได้ขวนขวายต่อสู้กับชีวิตด้วยตนเองจนตลอดรอดฝั่ง ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ มีเจ้านายในพรราชวงศ์หนึ่งซึ่งทรงมีส่วนให้การอุปการะ พญ.คุณหญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งยกย่องให้เป็นพระสหายสนิท แต่ท่านก็ยังบากบั่น อุตสาหะ พยายามต่อไป จนเป็นสัญลักษณ์ของท่านเองโดยเฉพาะ

อาชีพและตำแหน่งงานที่เคยทำในอดีต

  • พ.ศ. 2480 นายแพทย์ โท กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย
  • พ.ศ.2484 นายแพทย์โท แผนกกามโรค กองแพทย์สังคม กระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ.2485 – 2492 หัวหน้าแผนกโรคติดต่อเรื้อรัง กองโรคติดต่อ
  • พ.ศ. 2493 – 2495 หัวหน้าแพทย์โทประจำกรม (บางรัก)
  • พ.ศ. 2496 – 2497 นายแพทย์โท แผนกป้องกันและบำบัดกามโรค กองกามโรค
  • พ.ศ.2499 – 2500 นายแพทย์โทร รักษาการแทนผู้อำนวยการ กองควบคุมกามโรคและคุดทะราด
  • พ.ศ. 2501 – 2505 นายแพทย์เอก ประจำกองควบคุมกามโรคและคุดทะราด

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

  1. ได้รับเครื่องราชอิสริยากรณ์ LA LE’GION D’HONNEUR  ชั้น CHEVALIER เมื่อวันที่  24  มิถุนายน  2501
  2. เป็นสตรีเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัล Spirit of Achievement ประจำปี 2506 จากมหาวิทยาลัยแพทย์อัลเบิรต์ไอน์สไตน์ แห่งเยชิวาในนครนิวยอร์ค ในฐานะที่ได้รับการเลือกให้เป็นสตรีนานาชาติที่ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2506
  3. ได้รับประกาศนียบัตรรางวัลเพื่อมนุษยชาติ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  จากมหาวิทยาลัย Ehwa Womans University of Seoul ประเทศเกาหลีใต้ ปี 2509
  4. เหรียญทอง “Woman of the World”  จากสมาคมสตรีระหว่างประเทศ
  5. เหรียญตติยจุลจอมเกล้า ปี 2497
  6. เหรียญกาชาดสรรเสริญ ปี 2497
  7. เหรียญกาชาดสมนาคุณชั้น 1
  8. เหรียญทุติยจุลจอมเกล้า
  9. รับพระราชทานปริญญาสังคมวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ประจำปีการศึกษา 2523 จากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีคุณธรรม  โดยบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ยิ่งต่อสังคม  โดยส่วนรวมเป็นอเนกประการ และได้ก่อให้เกิดความสำนึกถึงความเป็นมนุษยชาติร่วมกันในส่วนรวม เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524

การเดินทางไปต่างประเทศ

  • 2483 ญี่ปุ่น  ดูงานกามโรคโสเภณี  6  เดือน
  • 2489 ประชุมการบริบาลเด็ก ที่อินเดีย ขององค์การอนามัยโลก 14 วัน
  • 2490 ประชุมแพทย์หญิงสากลที่ฟิลาเดลเฟีย ดูงานกามโรค  สหรัฐอเมริกา 3 เดือน
  • 2493 ประชุมการทำคลอดที่โรม อิตาลี  1 เดือน
  • 2495 ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา 6 เดือน
  • 2496 ประชุมบริบาลเด็กนานาชาติที่  ซาเกรบ ยูโกสลาเวีย  1 เดือน และประชุมแพทย์หญิงนานาชาติที่คาร์เดน อิตาลี
  • 2497 ประชุมแพทย์หญิงภูมิภาคเอเชีย  ที่มนิลา ฟิลิปปินส์ 15 วัน
  • 2498 ประชุมสมาคมวางแผนครอบครัว  ที่โตเกียว  ญี่ปุ่น 1 สัปดาห์
  • 2499 ประชุมสมนาคมวางแผนครอบครัวที่สหรัฐอเมริกา
  • 2500 ประชุมประชากรศึกษา ที่สตอคโฮล์ม  สวีเดน 1 เดือน
  • 2503 ประชุมไวท์เฮาส์  วอชิงตัน
  • 2505 ประชุมสหพันธ์ การสงเคราะห์เด็กที่ อิสตันบูล ตรุกี
  • 2506 ประชุมการแก้ปัญหาซิฟิลิส สหรัฐอเมริกา
  • 2507 ประชุมกามโรคสากลที่อินเดีย
  • 2513 ดูงานโสเภณี สหรัฐอเมริกา  1 เดือน

งานนิพนธ์

  • บรรณาธิการนิตยสารแม่และเด็ก
  • เพศศึกษา
  • กามโรค
  • คุมกำเนิด
  • บทความลงหนังสือพิมพ์นิตยสาร วิทยุกระจายเสียงเป็นประจำ

ความชำนาญพิเศษ

  1. กามโรค
  2. โรคเฉพาะสตรี
  3. โรคเด็ก
  4. สังคมวิทยา

งานวิชาการ

บรรยาย ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาลัยครู โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสืบสวน โรงเรียนสังคมสังเคราะห์ วิทยาลัยพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศิริราช วชิระพยาบาล พยาบาลจ่านายสิบทหาร โรงพยาบาลหญิงโรงเรียนอาชีวศึกษาหญิง ฯลฯ

งานสังคม

  • 2478-2479 นายกสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส
  • 2479 นายกสมาคมนักเรียนไทยในภาคพื้นยุโรป
  • 2481 ก่อตั้งมูลนิธิพีระยานุเคราะห์  เพื่อช่วยเหลือสตรี  เด็ก และสตรีนอกสมรส ให้การอบรมแม่ในการดูแลเด็ก เด็กนอกสมรสใช้นามสกุล “ฮุนตระกูล”  ญาติขอให้ใช้สกุลอื่น  จอมพลแปลก  พิบูลสงราม  จึงให้นามกุล “เวชบุล” จนถึงปัจจุบันผู้ใช้นามสกุล “เวชบุล” มีถึง 4,000 คน ต่างได้รับการศึกษาอบรมดีทุกคนจนมูลนิธิพีระยานุเคราะห์เป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมายเมื่อ พ.ศ.2492 เป็นประธานกิตติมศักดิ์ ประธานผู้ก่อตั้งบ้านเกร็ดตระการ ดูแลให้การสงเคราะห์โสเภณี เป็นกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าภาคพื้นยุโรป
  • 2482 เป็นกรรมการโรงเรียนสอนตนตาบอด
  • 2490 ผู้ก่อตั้งและนายกคนแรก  สมาคมนักเรียนเก่าเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และเป็นเลขาธิการสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติ
  • 2491 ผู้ก่อตั้งและนายกคนแรก  สมาคมนักเรียนเก่าอัสสัมชัญคอนแวนต์
  • ประธานมูลนิธิสุขภาพสังคม
  • กรรมการสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญคอนแวนต์
  • กรรมการสมาคมศิษย์เก่าเซนต์โยเซฟคอนแวนต์
  • กรรมการสภากาชาด แผนกหารายได้  กองอาสากาชาด
  • กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสหพันธ์นานาชาติต่อต้านกามโรค
  • ประธานกรรมการสหพันธ์นานาชาติต่อต้านกามโรคภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
  • กรรมการสมาคมแพทย์สตรีฝรั่งเศส
  • กรรมการระหว่างประเทศสภาการแนะนำการสมรสนานาชาติ
  • กรรมการระหว่างประเทศสมาคมพันธุกรรม
  • กรรมการสหพันธ์การทำคลอดนานาชาติ
  • กรรมการสาขาสังคมวิทยา สภาวิจัยแห่งชาติ
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพสตรี สภาสังคมสงเคราะห์ฯ
  • ประธานอนุกรรมการวิจัยเรื่องโสเภณี
  • กรรมการสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
  • กรรมการสภาสงเคราะห์แห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • ประธานกรรมการโครงการสวัสดิภาพครอบครัวและเด็ก
  • กรรมการประสานงานเกี่ยวกับสังสงเคราะห์สตรีบางประเภท ของสำนักนายกรัฐมนตรี

แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล

แม่พระ

        แม่พระ ช่วงชีวิตการต่อสู้ของ แพทย์หญิงคุณหญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล ระยะยาวนานเกือบ 80 ปี ย่อมจารึกอยู่ในความทรงจำมิอาจลืมเลือนได้ ในขณะที่วันหนึ่งมีบุตรสาวของผู้มีอันจะกินรายหนึ่งมาปรึกษาขอทำแท้ง เนื่องจากผิดพลาดในความรัก “แม่พระ” เห็นว่าการทำแท้งเป็นบาป จึงให้เด็กสาวผู้นั้นกลับไปปรึกษากับมารดาเพื่อที่จะเอาเด็กไว้ แต่การกลับเป็นว่าเด็กสาวคนนั้นถูกมารดาดุด่า จึงตัดสินใจลาโลกโดยดื่มยาพิษ “แม่พระ” รู้เรื่องเข้าจึงไปรับเด็กส่งโรงพยาบาล และเด็กสาวคนนั้นก็ได้ตายในอ้อมกอดของแม่พระ ความทรงจำอันเย็นเยือกไม่อาจลบเลือนไปได้ “แม่พระ” ได้ไตร่ตรองโดยรอบคอบ จึงอุทิศความผิดพลาดในครั้งนี้ให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง ซึ่งมีประวัติศาสตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเด็กสาวคนนั้น จึงเป็นปฐมเหตุของการรับบริบาลแม่และเด็ก เพื่อสตรีมีบุตรเพราะมิได้สมรส ท่านก็จะรับเลี้ยง ดูแล ให้นามสกุล เวชบุล โดย “แม่พระ” เป็นมารดาและ พลโท ปุ่น วงศ์วิเศษ เป็นบิดา หลายร้อยชีวิตที่ผ่านไปเติบกล้าออกมาสู้โลก บางคนได้ร่ำเรียนที่ต่างประเทศ บางคนได้แต่งงานมีครอบครัวเป็นปึกแผ่น บางรายประกอบธุรกิจส่วนตัวเป็นใหญ่เป็นโต ชีวิตของเขาและเธอเหล่านั้นถูกฟูมฟักอย่างอบอุ่นสามารถองอาจอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ “แม่พระ” สอนให้เป็นคนสู้โลกสู้ด้วยคุณธรรม

       แหล่งพำนักพระอาศัย เริ่มต้นจากที่พลับพลาไชย “แม่พระ” ได้ตั้งมาตาภาวนาสถาน เมื่อปี 2481 แล้วย้ายมาอยู่ที่ถนนสาธร ปี 2490 ข้างโรงพยาบาลบางรัก พระบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภ พิทยาลงกรณ์ ได้พระทานนามเดิมเป็น พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ และบ้านหลังนี้เมื่อปี 2507 สร้างความสะเทือนใจให้คนทั้งประเทศจนเป็นที่มาแห่งคำว่า ประชาอุทิศ เพราะธนาคารออมสินเจ้าหนี้ร้องต่อศาลให้บังคับคดี เรียกเงิน 3 ล้านกว่าบาท ชดใช้หนี้สินที่ขอกู้มา ทางจังหวัดก็จะให้ล้มเลิกมูลนิธิเดือดร้อนประชาชนผู้เห็นว่า “แม่พระ” ซึ่งอุทิศตนแก่เด็กกำพร้าร้อยกว่าชีวิต จะสิ้นเนื้อประดาตัว จึงช่วยกันบริจาคเงินจนสามารถใช้หนี้ธนาคารออมสินได้สำเร็จ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวที่เข้าถึงคณะรัฐมนตรีให้ช่วยพิจารณาเรื่องให้

        พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ จึงเป็นรวงรังของประชาชนทุกคนที่เห็นประโยชน์แก่เด็กกำพร้า ดังนั้น “แม่” ผู้ตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจและอยู่ในวัยศึกษาจำเป็นต้องพำนักอยู่ที่นี่ชั่วคราว รอจนคลอดบุตรแล้วยกบุตรให้ แม่พระ เป็นผู้ดูแล ตนเองก็กลับไปศึกษา การสร้างรอยจารึกแห่งคุณธรรมค้ำจุนโลก เป็นความเมตตาของคนไม่กี่คนในโลกนี้ ที่จะพึงหาได้ 4,000 ชีวิตเป็นอย่างน้อยใช้นามสกุล “เวชบุล” ปัจจุบันอยู่ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย เป็นทั้งครู พยาบาล ช่างภาพหนังสือพิมพ์ พ่อครัว นักบัญชี เรียนจบจากต่างประเทศ 5 คน ช่วยงานมูลนิธิอยู่ ผู้จบต่างประเทศมีกว่า 20 คน อยู่ต่างประเทศ โดยมีผู้ขอไปเลี้ยง 34 คน พ่อแม่ของเด็กรับไปเลี้ยงเอง 151 คน ปัจจุบันอยู่ในบ้านประชาอุทิศ 65 คน และแม่พระ เคยช่วยโสเภณีให้ไปอยู่บ้านเกร็ดตระการกว่า 2,000 ราย มรดกที่เป็นทรัพย์สินปัจจุบันคงมีบ้านที่ดินประชาอุทิศ ที่ดินว่างที่บางเขน บ้านทุ่งมหาเมฆ และคลินิกเช่าอยู่หน้าสวนลุมพินี

        นักบุญสตรี 10 ทิศ แม่พระ ไม่ใช่จะเก่งกาจเฉพาะเรื่องการดูแลเด็กเท่านั้น ชื่อของท่านยังโด่งดังในฐานะผู้รักษากามโรค การแก้ปัญหาโสเภณี ตามปูมประวัติกล่าวกันว่า แม่พระ ถึงกับลงทุนปลอมตัวเองเข้าไปในซ่องโสเภณี บาร์ไนท์คลับ เพื่อจะตามไปฉีดยา เพื่อรักษาและป้องกันกามโรค เคยถูกจับโยนออกมาแม้จะหัดยูโดก็ไม่วายถูกแมงดาข่มเหง แม้แต่ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา ก็ยังเคยถูกเข้าใจผิดว่าท่านเป็นนางบังเงา เพราะการชอบศึกษาให้ถึงต้นตอนนี้เอง แม่พระ ได้แก้ปัญหาโสเภณี ได้ช่วยต่อสู้เรื่องสิทธิการจดทะเบียน การแก้ปัญหาในเรื่องของโสเภณีเป็นเรื่องที่ไม่อาจผลักดันในช่วงชีวิตของท่านได้ เพราะโสเภณีเป็นอาชีพเก่าแก่คู่กับโลกมาตั้งแต่โบราณ นโยบายที่แน่นอนของรัฐบาลเท่านั้นที่จะควบคุมได้อย่างไร กามโรคเป็นของคู่กับโสเภณีได้ก่อปัญหากาทางสุขภาพกายและจิตใจ ยิ่งความเจริญทางการแพทย์มีสูงเท่าใดเชื้อโรคก็ดื้อยาขึ้นเท่านั้น แม่พระ ถึงกับเอ่ยปากว่า “ผู้หญิงไทยเซ็กส์จัดที่สุดในโลก” เพราะเป็นบ่อเกิดกามโรคเนื่องจากไม่รักษาและป้องกัน นี่เป็นปัญหาสังคมไทยที่ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา จะแก้ปัญหาอย่างไรดี

       เมื่อมีการปราบปรามโสเภณี แม่พระก็ได้จัดให้เกิดระบบการควบคุมรักษาและให้อาชีพ จึงเป็นที่มาของบ้านเกร็ดตระการ ของกรมประชาสงเคราะห์ เด็กกำพร้าบางส่วนจึงอยู่ที่บ้านศรีสังวาลย์ ซึ่งมาจากผลพวงของสิ่งเหล่านี้

       การเมือง เรื่องยุ่งๆคงจำกันได้ว่า เมื่อปี 2512 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านถูกชี้นำชักชวนให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคสหประชาไทยแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ แม่พระได้ หมายเลข 17 มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของประชาชนในเรื่องการสังคมสงเคราะห์ การสู้กับโรคภัยไข้เจ็บตอนนั้นบรรดาหมอนวด พาร์ตเนอร์โสเภณีต่างสนับสนุนท่านอย่างยิ่ง แต่ความฝันของท่านสลาย เพราะการเมืองไม่ยอมรับท่านเป็นผู้แทนราษฎร มิฉะนั้นแล้วเราก็คงจะเห็นการต่อสู้เพื่ออนามัยและการสงเคราะห์อีกทิศทางหนึ่ง

       ดารา แม่พระ ได้ชื่อว่าดาราคนหนึ่ง คือเป็นดาราของเด็กกำพร้า โสเภณี บรรดาผู้ชายชอบเที่ยวซุกซน ผลงานของแม่พระเป็นที่โด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนฮอลลิวู้ดมาขอชีวประวัติไปทำเป็นภาพยนตร์ ให้ชื่อว่า “ผู้หญิงมหัศจรรย์” นิตยสาร “รีดเดอร์ ไดเจส” นำเรื่องราวของท่านไปตีพิมพ์โด่งดังไปทั่วโลก ในวงการการศึกษาด้านสังคมสังเคราะห์ถือว่าท่านเป็น ดารา ที่จะถูกนิสิต นักศึกษา ทำรายงาน วิทยานิพนธ์อยู่เป็นประจำ

       อานิสงส์ แห่งการทำดีช่วงระยะกว่า 80 ปีของชีวิตไม่เคยได้พักเลย ชีวิตจะว่าไปแล้วไม่มีใครที่จะปูด้วยกลีบกุหลาบ จากผู้หญิงตัวเล็กๆ เกิดที่ลำปาง เกิดจากภรรยาคนที่ 3 พ่อซึ่งมี 3 บ้าน ตัวเองมีพี่ชายคนเดียวก็มาด่วนจากไปเสียก่อน ว้าเหว่และเงียบเหงา ต้องลงมาเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะความใกล้ชิดกับบัณฑิตทั้งหลายก็ใฝ่ฝันจะไปเรียนเมืองนอก บิดาก็ไม่เห็นด้วย จนกระทั่งเล็ดลอดไปเรียนที่ไซ่ง่อนกับแม่ชี ครั้นกลับมาก็อยากจะเรียนหมอ ซึ่งสมัยนั้น ศิริราชพยาบาลก็ไม่ยอมรับอิสตรีเพศ ต้องติดสอยห้อยตามเจ้านายไปเรียนที่ฝรั่งเศส และชีวิตความเป็นอยู่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวและเด็ดขาด เป็นที่ยอมรับนับถือของบรรดาคนไทยที่นั่น ชีวิตของแม่พระ ดูจะอาภัพในเรื่องความรัก มีคนรักก็ไปเสียชีวิตที่ฮ่องกงระหว่างดินทางกลับประเทศไทย นามสกุล “ฮุนตระกูล” ก็ถูกญาติพี่น้องไม่เห็นด้วยจะให้ใช้ เพราะไปทำงานสังคมสงเคราะห์รับเด็กกำพร้าไว้ในอ้อมอกจนกระทั่งได้รับพระราชทานนามสกุล “เวชบุล” จาก สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

        ชีวิตท่านต่อสู้เลือดตาแทบกระเด็น ความแกร่ง กล้าหาญ จนเป็นสตรีมหัศจรรย์ก็สมควรแล้วกับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งเสียสละชีวิตและวิญญาณเพื่อมนุษยชาติ รางวัลใดๆ ที่ได้รับไม่ว่าจะเป็นเหรียญตราของฝรั่งเศส ของไอน์สไตน์ ปริญญากิตติมศักดิ์ คำเยินยอของมาดารูสเวลท์ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สหายสนิทของท่านก็ยังไม่เท่ากับคำว่า “แม่พระ” ผู้เจริญรอยตามมาดามคูรี่ อัจฉริยภาพแห่งการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การจากไปของท่านยากที่จะหาผู้ใดตามรอยเท้าได้ทัน แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็จะสานต่อ อย่างน้อยที่สุดก็ให้ได้ 1 ใน 100 ของท่าน

ประมวลภาพ พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ – บ้านสาธร

พิธีพระราชทานเพลิง แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล